เมื่อใกล้ถึงวัยที่เจ้าตัวน้อยจะต้องออกไปเผชิญโลกกว้าง ได้วาร์ปออกไปใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่...บ้าน แน่นอนว่าเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่หนักอกหนักใจผู้ปกครองมาก ๆ เพราะถือเป็นช่วงวัยแรกที่ลูกน้อยจะต้องห่างจากอ้อมอกเราในช่วงเวลาหนึ่งของในแต่ละวัน ความรัก ความห่วง จึงทำงานอย่างหนัก ว่าเราจะเลือกโรงเรียนใด หลักสูตรไหน เข้ามารับช่วงในการให้การศึกษาช่วงชั้นแรกกับลูกของเรา วันนี้ทรูปลูกปัญญาได้รวบรวมหลักสูตรต่าง ๆ ในระดับชั้นอนุบาลที่มีอยู่ในประเทศไทยมาฝากคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง แล้วบทสรุปสุดท้ายจะตัดสินใจเลือกโรงเรียนแบบไหน หลักสูตรแบบใด เราลองมาเรียนรู้ข้อมูลไปพร้อมกันเลยค่ะ
การเรียนการสอนเน้นการเรียน เขียนและอ่าน เคร่งครัดเรื่องวิชาการ จบระดับอนุบาลก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และเน้นที่จะให้เด็กไปสอบเข้าโรงเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนชื่อดัง ข้อดีของโรงเรียนแนววิชาการคือ จะมีโรงเรียนแนววิชาการในระดับประถมและมัธยมรองรับไปจนโต สำหรับข้อเสียคือเนื้อหาที่ใช้เรียนจะค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับอายุของเด็ก และอาจทำให้ชีวิตในช่วงนี้ที่เน้นความสนุกสนาน ความสุขอาจจะได้ไม่เต็มที่
เป็นโรงเรียนแนววิชาการ สอนวิชาการโดยใช้นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตได้ใช้เป็นที่สังเกตการสอนและการจัดโรงเรียน เพื่อการปฏิบัติงานและฝึกสอนของนิสิตนักศึกษา เป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับความเจริญเติบโตของเด็กและทดสอบหลักวิชาการประถมศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยโรงเรียนสาธิต จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยให้ได้ปฏิบัติจริง ทดลอง สำรวจและแสดงออก ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยมีครูเป็นผู้จัดประสบการณ์ ให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกทักษะกระบวนการ ฝึกการตัดสินใจ มีวินัย และมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
ใช้ปรัชญาและแนวคิดด้านการศึกษาค่อนข้างผสมผสานและหลากหลาย ไม่เน้นวิชาการ แต่จะแทรกความรู้แนววิชาการ ด้วยการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ผ่านการเล่น การสังเกต และทำกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือทำ โรงเรียนจะจัดกิจกรรมและดูแลกิจวัตรประจำวันให้เด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
กิจกรรมมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มย่อย และรายบุคคล สลับกันไป โดยกิจกรรมที่เด็ก ๆ ลงมือทำนั้นได้ผสมผสานพื้นฐานทักษะวิชาต่าง ๆ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เข้าไปอย่างแนบเนียน จึงไม่ใช่การเล่นสนุกไปวัน ๆ แต่เป็นการเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีคุณครูคอยสนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กคิด แสวงหาคำตอบจากสิ่งที่สงสัย
การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนจะมีมุมการเรียนรู้อยู่รอบห้องเรียน เช่น มุมบ้าน มุมเกม มุมศิลปะ เป็นต้น บรรยากาศในห้องเรียนดูผ่อนคลาย ครูและเด็กมีความสุข และมุ่งเน้นให้เข้าถึงธรรมชาติของผู้เรียน และให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการศึกษาไปพร้อม ๆ กับเด็ก โดยเด็กจะไม่ได้เรียนแค่การท่องจำตำรา แต่จะต้องเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่ควรเป็นไปในสังคม
โรงเรียนทางเลือกใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ และรูปแบบการเรียนการสอนที่นำมาประยุกต์และปรับใช้ ซึ่งก็แล้วแต่โรงเรียนจะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสม มีหลายหลักสูตรที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น
เน้นสอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น สอนกิจกรรมให้ฝึกทักษะการคิดจินตนาการ ทั้งศิลปะ ดนตรี โดยให้เด็กได้ปฏิบัติจริง แนวคิดนี้เชื่อว่า เด็กจะเรียนรู้จากการเลียนแบบ ผู้สอนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีกับเด็ก จุดมุ่งหมายของวอลดอร์ฟ คือ ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี พัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีสังคมที่สมบูรณ์ โดยเน้นในเรื่องจิตวิญญาณความรู้สึก เน้นการสร้างเจตคติในตัวเด็ก เน้นสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่ทำจากธรรมชาติ
เน้นสอนตามพัฒนาการและความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กพึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้เป็นรายบุคคล เน้นการเตรียมการสอนของครูตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ในการฝึกประสาทสัมผัสเด็ก ครูผู้สอนจะต้องปรับให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น ด้วยวิธีการสอน ด้วยการทำซ้ำ หรือการสาธิตให้เด็กดูไปตามขั้นตอน ถ้าเด็กไม่เข้าใจขั้นตอนใด ครูจะเริ่มสาธิตให้ดูใหม่ เมื่อแน่ใจว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่ทำให้เด็กดูแล้ว จึงจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป
เป็นการผสมผสานกันระหว่างแนวการเรียนการสอนทางตะวันออกและความทันสมัยของทางตะวันตก เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ ๆ ด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่า เด็กเปรียบเสมือนกิ่งไม้ไผ่อ่อน ๆ ที่ดัดได้ เพราะฉะนั้นจึงควรให้ความสนใจกับการศึกษาระดับอนุบาลยิ่งกว่าการศึกษาระดับใด
เน้นการสอนให้พ่อแม่ ครู เด็ก และชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อม และเรียนรู้ร่วมกัน มีการตั้งสมมติฐาน สำรวจแล้วแสดงผลผ่านการวาดภาพ งานปั้น การเล่นละคร การเขียน และการจัดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มากกว่า แนวคิดนี้เชื่อว่าเด็กแต่ละคน มีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเอง มีศักยภาพและความสามารถในตนเองมาตั้งแต่เกิด และทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกัน การเรียนรู้จึงมีคุณค่าสำหรับเด็กมากกว่าการสอนจากครูโดยการบอกเล่า
โรงเรียนแนวการสอนแบบโครงการ เป็นการสอนด้วยวิธีสะสมแฟ้มผลงานเด็ก โดยสืบค้นหาข้อมูลตามเรื่องที่เด็กสนใจ ค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวกับหน่วยการเรียนรู้ คำถามนั้นจะมาจากเด็กกับครูร่วมกัน เพื่อให้เด็กรู้จักตัดสินใจ และพ่อแม่มีส่วนร่วม เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ผ่านการสอนแบบโครงงานที่เน้นกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง ในบางโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมภาษาอังกฤษโดยเรียนกับครูชาวต่างประเทศ
โรงเรียนแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ เป็นการสอนภาษาแบบบูรณาการ ผ่านการฟัง พูด อ่าน เขียน พร้อมกัน ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเน้นการสอนภาษาที่สื่อความหมายกับเด็ก ผู้สอนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน เด็กจึงจะสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดี เด็กควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภาษาที่สื่อความหมาย มีการจัดสื่อเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ใช่การทำแบบฝึกปฏิบัติ
เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ ผ่านมุมเล่นหลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการและการแก้ปัญหา โดยแบ่งการสอนเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการกระตุ้นพัฒนาการในแต่ละด้าน ผ่านประสบการณ์หรือศูนย์การเรียนที่หลากหลาย ด้วยวัสดุอุปกรณ์และกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก ส่งเสริมในขณะเด็กวางแผนในแต่ละวันว่าจะทำอย่างไร ปฏิบัติตามที่วางแผนและทบทวนสิ่งที่พวกเขาได้ทำ ครูใช้การสอนกลุ่มย่อยเพื่อกระตุ้นพัฒนาการการใช้คำถาม การสนับสนุนและการขยายการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสาร
โรงเรียนแนวการสอนแบบพหุปัญญา เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสาระการเรียนรู้และความสามารถทางการเรียนรู้ที่มีอยู่ในนักเรียน โดยมุ่งเน้นให้เด็กแต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และได้ใช้ความสามารถได้สูงสุดซึ่งจำแนกไว้ 8 ด้าน ได้แก่ ภาษา ดนตรี ตรรกะและคณิตศาสตร์การเข้ากับผู้อื่น การรู้จักและเข้าใจตนเอง ความเข้าใจในธรรมชาติ มิติสัมพันธ์ และร่างกายและการเคลื่อนไหว
ใช้หลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาในการพัฒนานักเรียน และนำมาประยุกต์ผสมผสานในหลักสูตรการเรียนรู้เชิงวิชาการอย่างสมดุล และครอบคลุมทั้งกาย จิตใจ และปัญญา มีหลักการเรียนการสอนคล้าย ๆ กับโรงเรียนแนวบูรณาการ
การจัดการเรียนการสอนจะใช้สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมชาติเป็นแหล่งการเรียนรู้หลัก รวมกับการค้นคว้า การประมวลความรู้เข้ากับความคิด การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และบันทึกข้อมูล ธรรมะ มีความหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ ที่สื่อถึงคุณค่าและสามารถทำงานชิ้นนั้นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
โรงเรียนจะสอนคุณธรรมผ่านกิจวัตรประจำวัน โดยการบูรณาการหลักสูตรก่อนประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเข้ากับหลักสูตรอิสลามศึกษา เด็ก ๆ จะได้รับความรู้จากหลักสูตรกลางซึ่งเรียนเป็นหน่วยการเรียน และได้เรียนรู้และซึมซับวิถีมุสลิมด้วย ในการเรียนการสอนจะสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและศาสนาอิสลามให้กับเด็ก
จัดการศึกษาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ลักษณะพิเศษของโรงเรียนคาทอลิกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาที่ประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรม พัฒนามนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม โดยการสร้างบรรยากาศทางการเรียนให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ที่มีหลักบนความเชื่อทางศาสนา โดยมีพระคริสตเจ้าเป็นแบบฉบับ
เน้นความสำคัญของชีวิต จิต ธรรมชาติ และสังคม โดยยึดหลักคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นพื้นฐาน ประกอบกับความรู้วิทยาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ด้านสังคม การดำเนินชีวิตในสังคม หมู่คณะอย่างมีความหมายและเป็นสุข เน้นคุณค่าของชีวิตมากกว่าวัตถุ
เน้นการสอนแบบสองภาษา โดยใช้หลักสูตรของกระทรวง คือภาษาไทยกับภาษาที่สอง ส่วนมากจะเป็น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน บางแห่งมีการสอนถึง 3 ภาษา ทั้งไทย-อังกฤษ-จีน เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางภาษาให้เด็ก มีการสอนแบบเตรียมความพร้อม ที่เน้นกิจกรรมเล่นปนเรียน มีสื่อที่เป็นภาษาที่สอง เช่น บัตรคำ หนังสือภาพ หรืออื่น ๆ และการสอนแบบวิชาการที่เน้นการอ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาที่สอง
หลักสูตรนี้เน้นการเรียนรู้ภาษาที่สองตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ให้เด็กได้ซึมซับสำเนียงภาษา และใช้ภาษาได้อย่างมีสำเนียงถูกต้อง และที่สำคัญคือเด็กจะคิดออกมาเป็นภาษานั้นโดยอัตโนมัติ แทนที่จะต้องแปลก่อนจึงค่อยคิด นักภาษาศาสตร์ในต่างประเทศ ได้ศึกษาการเรียนรู้ภาษาของเด็ก พบว่าเด็กอายุ 4 - 5 ปี เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดในการเรียนภาษาที่สอง แต่ถ้าเลยวัยนี้ก็จะยากกว่าการสอนเด็กวัยเล็ก ซึ่งอยู่ในวัยของการรับรู้ภาษามาก เพราะศักยภาพแห่งการปรับรูปแบบหรือความยืดหยุ่นของสมอง (Brain Plasticity) ได้หมดไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่บอกว่า เมื่ออายุ 5 - 8 ปี หากให้เด็กในวัยนี้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ รูปแบบทางเสียงภาษาอังกฤษจะไม่ทำให้รูปแบบทางเสียงภาษาไทยบิดเบือนไป เพราะสมองของเด็กมีรูปแบบทางประสาทของระบบเสียงภาษาแม่ หรือภาษาไทยที่ค่อนข้างคงตัวแล้ว สามารถแยกได้แล้วว่า เสียงในภาษาแม่เป็นอย่างไร และเสียงในภาษาอังกฤษมีลักษณะอย่างไร
จัดการศึกษาในระบบหลักสูตรของต่างประเทศ โดยปรับรายละเอียดเนื้อหารายวิชาใหม่ ไม่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น หลักสูตรระบบอเมริกัน และระบบอังกฤษ ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน เด็กจะได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมในระดับสากล และใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กับทุกคนในโรงเรียน ข้อดีของโรงเรียนนานาชาติ คือลูกจะพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้คล่อง เพราะได้เรียนกับเจ้าของภาษาโดยตรง แต่ข้อเสียคือค่าเทอมจะมีราคาสูงกว่าหลักสูตรอื่น ๆ มาก และเด็กจะซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ จนบางครั้งไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับในวัฒนธรรมไทย
จัดการศึกษาโดยครอบครัว มีขอบเขตเนื้อหาวิชาไม่ต่างไปจากหลักสูตรปกติ แต่มีกระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น มีการจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมเครือข่ายพ่อแม่
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับหลักสูตรในระดับอนุบาลที่จัดมาให้อย่างจุก ๆ ลองพิจารณากันดูนะคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกน้อยได้เรียนในหลักสูตรไหน แต่เลือกแล้ว อย่าเลือกเลยนะคะ ให้หมั่นสังเกตด้วยว่า สิ่งที่เลือกส่งผลอย่างไรต่อความสุข ความทุกข์ และพัฒนาการของลูกน้อย หากมีสัญญาณใดบ่งบอกว่า เรากำลังเลือกผิด จะได้รีบปรับแก้ได้ทัน ก่อนที่ช่วงวัยแห่งความสุขของลูกน้อยจะผ่านเลยไป
Auntie
บทความอ้างอิง
โรงเรียน อนุบาล มีกี่แบบ? หลักสูตรไหนเหมาะกับลูกเรา? https://www.amarinbabyandkids.com/school/how-to-choose-kindergarten/
หลักสูตรอนุบาลและการเรียนการสอนของอนุบาล https://th.theasianparent.com/type-of-elementary
ประเภทของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม https://www.rakluke.com/child-development-all/kid-development/item/2020-03-21-13-26-46.html